กิจกรรม (Activity)
1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การนำหลักสูตรไปใช้
ตอบ การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆในการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนและจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ตั้งแต่ระดับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละฝ่ายมีความเกี่ยวข้องในแต่ละส่วนของการนำหลักสูตรไปใช้ เช่น หน่วยงานส่วนกลางเกี่ยวข้องในด้านการบริหารและบริหารหลักสูตรกับการนิเทศและติดตามผลการใช้หลักสูตร
การนำหลักสูตรไปใช้จำต้องเป็นขั้นตอนตามลำดับ นับแต่ขั้นการวางแผน และเตรียมการในการประชาสัมพันธ์หลักสูตร และการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ขั้นต่อมาคือการดำเนินการนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีระบบ นับแต่การจัดครูเข้าสอนตามหลักสูตร การบริการวัสดุหลักสูตรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการนำหลักสูตรไปใช้ และดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร
ส่วนขั้นสุดท้ายต้องติดตามประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ นับแต่การนิเทศติดตามผลการใช้หลักสูตร การติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นบรรลุผลตามจุดหมาย และเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือครูผู้สอน
ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้
การนำหลักสูตรไปใช้ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ทำให้การให้ความหมายของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้แตกต่างกันออกไป นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือให้คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนี้
โบแชมป์ (Beauchamp,1975:164)ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยการะบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ครูได้มีพัฒนาการเรียนการสอน
สันติ ธรรมบำรุง (2527.120)กล่าวว่า การนำหลักหลักสูตรไปใช้หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล รวมถึงการบริหารงานด้านวิชาการของโรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จันทรา (Chandra, 1977:1) ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นการทดลองใช้เนื้อหาวิชาวิธีการสอน เทคนิคการประเมิน การใช้อุปกรณ์การสอน แบบเรียนและทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน โดยมีครูและผู้ร่างหลักสูตรเป็นผู้ปัญหาแล้วหาคำตอบให้ได้จากการประเมินผล
แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้
โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนากลวิธีการสอน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามเป้าหมาย
1. ครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร
2. ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จได้ ผู้นำที่สำคัญที่จะรับผิดชอบได้ดี คือครูใหญ่
หลักการที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้
1. จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการ
2. จะต้องมีองค์คณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ประสานงานกัน
3. ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
4. คำนึงถึงปัจจัยที่จะช่วยในการนำหลักสูตรไปใช้
5. ครูเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง
6. จัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครู
7. หน่วยงานและบุคคลในฝ่ายต่างๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
8. มีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ
2. ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “การพัฒนาหลักสูตร : การจัดหลักสูตร การประเมินหลักสูตร”
ตอบ ความหมายของการประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรหมายถึง กระบวนการการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพทั้งประสิทธิภาพและประเมินผลของหลักสูตรรวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตรนั้นในอนาคต แนวคิดการประเมินหลักสูตรประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. การประเมินเป็นการประเมินค่าของเรื่องที่ตัดสินใจ
2. การตัดสินใจมีเกณฑ์ที่ชัดเจน
3. เกณฑ์การตัดสินใจมีประเด็นที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับเนื้อหา
4. เกณฑ์แสดงให้เห็นด้วยบุคคลและสอดคล้องกับแนวคิดของแบบจำลองเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร
ทาบา (Taba, 1962 : 310) ได้กล่าวไว้ว่า การประเมินหลักสูตรทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ที่กำหนดไว้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหลักสูตรและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ จุดประสงค์ ขอบเขตของเนื้อหาสาระ คุณภาพของผู้ใช้บริหารและผู้ใช้หลักสูตร สมรรถภาพของผู้เรียน ความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ การใช้สื่อและวัสดุการสอน ฯลฯ
การปะเมินหลักสูตร ก่อน ระหว่าง และหลังการนำหลักสูตรไปใช้
ขั้นตอนการประเมินหลักสูตร
จุดมุ่งหมายการประเมิน
การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินเอกสารและคุณค่าของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร
การประเมินการนำไปใช้และผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินระบบหลักสูตร
ขอบเขตในการประเมินหลักสูตร
เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander, 1981 : 265) ได้กล่าวถึงขอบเขตของการประเมินหลักสูตรไว้ดังนี้
1.การประเมินจุดมุ่งหมายของโรงเรียน จุดมุ่งหมายของหลักสูตร จุดมุ่งหมายเฉพาะวิชาและจุดมุ่งหมายในการสอน
2.การประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด
3.การประเมินผลการเลือกเนื้อหาและการจัดประสบการณ์เรียนและกิจกรรม
4.การประเมินผลการสอบ
5.การประเมินผลโครงการประเมินผล
หลักเกณฑ์การประเมินหลักสูตร
1. มีจุดประสงค์ในการประเมินที่แน่นอน การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปให้แน่นอนชัดเจนว่าประเมินอะไร
2. มีการวัดที่เชื่อถือได้ โดยมีเครื่องมือและเกณฑ์การวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับ
3. ข้อมูลเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผล ดังนั้น ข้อมูลจะต้องได้มาอย่างถูกต้องเชื่อถือได้และมากพอที่จะใช้เป็นตัวประเมินค่าหลักสูตรได้
4. มีขอบเขตที่แน่นอนชัดเจนว่าเราต้องการประเมินในเรื่องใดแค่ไหน
5. ประเด็นของเรื่องที่จะประเมินอยู่ในช่วงเวลาของความสนใจ
6. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดเครื่องมือในการประเมินผล จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
7. การวิเคราะห์ผลการประเมินต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ และให้มีความเที่ยงตรงในการพิจารณา
8. การประเมินผลหลักสูตรควรใช้วิธีการหลายๆวิธี
9. มีเอกภาพในการตัดสินผลการประเมิน
10. ผลต่างๆที่ได้จากการประเมินควรนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดีและมีคุณค่าสูงสุดตามที่ต้องการ
ขั้นตอนในการประเมินหลักสูตร
1. ขั้นกำหนดวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายในการประเมินการกำหนดจุดมุ่งหมายในการประเมินเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการในการดำเนินการประเมินหลักสูตร ผู้ประเมินต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการประเมินให้ชัดเจนว่าจะประเมินอะไร จะทำให้เราสามารถกำหนดวิธีการ เครื่องมือ และขั้นตอนในการประเมินได้อย่างถูกต้อง
2. ขั้นกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่จะใช้ในการประเมินผล การกำหนดเกณฑ์และวิธีการประเมินเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการประเมิน เกณฑ์การประเมินจะเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพในส่วนของหลักสูตรที่ถูกประเมิน การกำหนดวิธีการที่จะใช้ในการประเมินผลทำให้เราสามารถดำเนินงานไปตามขั้นตอนได้อย่างราบรื่น
3. ขั้นการสร้างเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จะมีผลทำให้การประเมินนั้นน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผู้ประเมินจะต้องเลือกใช้และสร้างอย่างมีคุณภาพ มีความเชื่อถือได้และมีความเที่ยงตรงสูง
4. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล ในขั้นการรวบรวมข้อมูลนั้นผู้ประเมินต้องเก็บรวบรวมข้อมูลตามขอบเขตและระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลมีส่วนช่วยให้ข้อมูลที่รวบรวมได้มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ
5. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล ในขั้นนี้ผู้ประเมินจะต้องกำหนดวิธีการจัดระบบข้อมูล พิจารณาเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม แล้วจึงวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
6. ขั้นสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานผลการประเมิน ในขั้นนี้ผู้ประเมินจะสรุปและรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น ผู้ประเมินจะต้องพิจารณารูปแบบของการรายงานผลว่าควรจะเป็นรูปแบบใด และการรายงานผลจะมุ่งเสนอข้อมูลที่บ่งชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรมีคุณภาพหรือไม่ เพียงใด มีส่วนใดบ้างที่ควรแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิก
7. ขั้นนำผลที่ได้จากการประเมินไปพัฒนาหลักสูตรในโอกาสต่อไป
ประโยชน์ของการประเมินหลักสูตร
1. ทำให้ทราบหลักสูตรที่สร้างหรือพัฒนาขึ้นนั้นมีจุดดีหรือจุดเสียตรงไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนปรับปรุงได้ถูกจุด ส่งผลให้หลักสูตรมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
2. สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ และค่านิยมที่มีต่อโรงเรียนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
3. ช่วยในการบริหารทางด้านวิชาการ ผู้บริหารจะได้รู้ว่าควรจะตัดสินใจและสนับสนุนช่วยเหลือ หรือบริหารทางด้านใดบ้าง
4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในความสำคัญของการศึกษา
5. ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนนักเรียนได้ผลดี ด้วยความร่วมมือกันทั้งทางโรงเรียนและทางบ้าน
6. ให้ผู้ปกครองทราบความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาทางส่งเสริมและปรับปรุงแก้ไขร่วมกันระหว่างผู้ปกครองนักเรียนกับทางโรงเรียน
7. ช่วยให้การประเมินผลเป็นระบบระเบียบ เพราะมีเครื่องมือ และหลักเกณฑ์ทำให้เป็นเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
8. ช่วยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของหลักสูตร
9. ช่วยให้สามารถวางแผนการเรียนในอนาคตได้ ข้อมูลของการประเมินผลหลักสูตร ทำให้ทราบเป้าหมายแนวทางและขอบเขตในการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ปัญหาในการประเมินหลักสูตร
1. ปัญหาด้านการวางแผนการประเมินหลักสูตร การประเมินหลักสูตรมักไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบในการประเมินผล และไม่ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการประเมิน
2. ปัญหาด้านเวลา การกำหนดเวลาไม่เหมาะสมการประเมินหลักสูตร ไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด ทำให้ได้ข้อมูลเนิ่นช้าไม่ทันต่อการนำมาปรับปรุงหลักสูตร
3. ปัญหาด้านความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการประเมินหลักสูตร คณะกรรมการประเมินหลักสูตรไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตรที่จะประเมิน หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินผล ทำให้ผลการประเมินที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ ขาดความละเอียดรอบคอบ ซึ่งมีผลทำให้การแก้ไขปรับปรุงปัญหาของหลักสูตรไม่ตรงประเด็น
4. ปัญหาด้านความเที่ยงตรงของข้อมูล ข้อมูลที่ไม่ใช้ในการประเมินไม่เที่ยงตรงเนื่องจากผู้ประเมินมีความกลัวเกี่ยวกับผลการประเมิน จึงทำให้ไม่ได้เสนอข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงหรือผู้ถูกประเมินกลัวว่าผลการประเมินออกมาไม่ดี จึงให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง
5.ปัญหาด้านวิธีการประเมิน การประเมินหลักสูตรส่วนมากมาจากการประเมินในเชิงปริมาณ ทำให้ได้ข้อค้นพบที่ผิวเผินไม่ลึกซึ้ง จึงควรมีการประเมินผลที่ใช้วิธีการประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์และมองเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
6.ปัญหาด้านการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ การประเมินหลักสูตรทั้งระบบมีการดำเนินงานน้อยมาก ส่วนมากมักจะประเมินผลเฉพาะด้าน เช่น ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในด้านวิชาการ (Academic Achievement) เป็นหลัก ทำให้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
7.ปัญหาด้านการประเมินหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการประเมินหลักสูตรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมักไม่ประเมินหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
8.ปัญหาด้านเกณฑ์การประเมิน เกณฑ์การประเมินหลักสูตรไม่ชัดเจน ทำให้ผลการประเมินไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ได้นำผลไปใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรอย่างจริงจัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น