จุดหมายของหลักสูตรสถานศึกษา
สถานศึกษาเป็นแหล่งของการแสวงหาความรู้ สถานศึกษาจึงต้องมีหลักสูตรของตนเอง
กล่าวคือ หลักสูตรสถานศึกษาประกอบด้วยการเรียนรู้ทั้งมวลและประสบการณ์อื่นๆ
ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งวางแผนเพื่อพัฒนาผู้เรียน
โดยจะต้องจัดทำสาระการเรียนรู้ทั้งรายวิชาที่เป็นพื้นฐานและรายวิชาที่ต้องเรียนเพิ่มเติมเป็นรายปีหรือรายภาค
จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกภาคเรียนและกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์จากมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สถานศึกษาจะต้องทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน ท้องถิ่น วัด
หน่วยงานและสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น
เพื่อให้เกิดผลตามจุดมุ่งหมายที่สำคัญของหลักสูตร 2 ประการ ดังนี้
1.
หลักสูตรสถานศึกษาควรพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความสนุกและความเพลิดเพลินในการเรียนรู้
เปรียบเสมือนเป็นวิธีการสร้างกำลังใจและเร้าใจให้เกิดความก้าวหน้าแก่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด
ให้ผู้เรียนทุกคนมีความรู้สูงสุดตามศักยภาพของแต่ละคน โดยควรสร้างความเข้มแข็ง
ความสนใจและประสบการณ์ให้ผู้เรียน
และพัฒนาความมั่นใจให้เรียนและทำงานอย่างเป็นอิสระและร่วมใจกัน
ควรให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้สำคัญ ๆ ในการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น
ได้ข้อมูลสารสนเทศและใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ส่งเสริมจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น
และมีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล
2. หลักสูตรสถานศึกษาควรส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ จริยธรรม
สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะพัฒนาหลักการในการจำแนกระหว่างถูกและผิด
ความเข้าใจและศรัทธาในความเชื่อของตน ความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันว่า สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อตัวบุคคลและสังคม
หลักสูตรสถานศึกษาต้องพัฒนาหลักคุณธรรมและความอิสระของผู้เรียน
และช่วยพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ สามารถพัฒนาสังคมให้เป็นธรรม
มีความเสมอภาค ควรพัฒนาความตระหนัก เข้าใจ และยอมรับสภาพแวดล้อมที่ตนดำรงชีวิตอยู่
ยึดมั่นในข้อตกลงร่วมกันต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับส่วนตน ระดับท้องถิ่น
ระดับชาติและระดับโลก
หลักสูตรสถานศึกษาควรสร้างให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเป็นผู้บริโภคที่ตัดสินใจแบบมีข้อมูล
เป็นอิสระและเข้าใจในความรับผิดชอบของตน
จุดหมายของหลักสูตรสถานศึกษาทั้งสองประการข้างต้นนี้
เป็นเพียงกรอบหรือแนวทางที่จะให้สถานศึกษาได้นำไปพิจารณา
และกำหนดเป็นรายละเอียดจุดหมายในแต่ละสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่บ้าน ตำบล
และชุมชน ที่มีสภาพภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และค่านิยมที่แตกต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น