ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)


ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
          พิพัฒนาการ หรือ Progressive หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การจัดการศึกษาต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง จึงได้เชื่อว่า แนวทางแห่งความมีอิสระเสรีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง วัฒนธรรมและสังคม
ความเป็นมา 
           พิพัฒนาการนิยมเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดและวิธีการศึกษาแบบเดิมที่เน้นแต่เนื้อหา สอนแต่ท่องจำ ไม่คำนึงถึงความสนใจของเด็ก และพัฒนาเด็กแต่เพียงสติปัญญาเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนขาดความ ริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง อีกอย่างหนึ่งเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความนิยมในประชาธิปไตยและพัฒนาการใหม่ ๆ ทางจิตวิทยาการเรียนรู้
            จัง จ๊าค รุสโซ, จอห์น เฮนรี่, เปสตาลอสซี่, เฟรด เดอริค ฟรอเบล เป็นผู้มีแนวคิดทางปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมเป็นพวกแรก ของยุโรป ค.ศ. 1870 ฟรานซีส ดับเบิลยู ปาร์คเกอร์ ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบโรงเรียนขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมา จอห์น ดุย ทำการทดลองเพิ่มเติมจนทั่วโลกได้รู้จักปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมของเขา มีนักการศึกษาร่วมอยู่ด้วย วิลเลียม เอช คิลแพททริค, จอห์น ไซล์ค และเฮนรี่ บาร์นาร์ด สหรัฐอเมริกาจัดตั้งสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการขึ้นในปี ค.ศ.1919 ได้จัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อชีวิต (The Life-Centered Curriculum) ขึ้นใช้ในโรงเรียนอย่างกว้างขวาง
            จอห์น ดุย ได้ยกย่องปาร์คเกอร์ ว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ก่อตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง(ราว ค.ศ.1920) และ นำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในยุคปัจจุบัน สำหรับวงการศึกษาไทยได้ต้อนรับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม(แบบก้าวหน้า)อย่างกระตือรือร้น โดยรู้จักกันในนามว่า การศึกษาแผนใหม่
แนวคิดพื้นฐาน 
              พิพัฒนาการนิยม มีแนวคิดเช่นเดียวกับปรัชญาปฏิบัตินิยม เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบที่มีอิทธิพลสูงสุดในการกำหนดรูปแบบของวัฒนธรรมและสังคม คือ การค้นคว้า ทดลอง และประสบการณ์ของมนุษย์ที่ได้เห็นประจักษ์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดอนาคตโชคชะตาของตนเอง มนุษย์ควรจะนั้นความสำคัญและคุณค่าของแต่ละบุคคลให้มาก ดังนั้น การศึกษาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะต้องเปลี่ยนแปรสภาพไปด้วยเมื่อถึงความจำเป็นการศึกษาไม่ใช่สอนให้คนยึดมั่นในความจริง หรือถูกกำหนดไว้ตายตัว หากจะต้องหาทางปรับปรุงการศึกษาเพื่อจะเป็นแนวทางนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ความหมายของการศึกษา 
                พิพัฒนาการนิยมเชื่อว่าการศึกษาคือชีวิตไม่ใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า การที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ก็โดยการลงมือกระทำ จริง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์กับผู้เรียน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงมุ่งการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

ความมุ่งหมายของการศึกษา
  • จุดมุ่งหมายการศึกษาในปรัชญาการศึกษา พิพัฒนาการนิยม สรุปได้ว่า
  • มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน
  • มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวเองเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข
  • มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด ความสนใจ และตามความสามารถของผู้เรียน
  • ส่งเสริมประชาธิปไตยทั้งในและนอกห้องเรียน
  • มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
  • มุ่งให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตเป็นหมู่คณะ และรู้จักปกครองตนเอง
ธรรมชาติของมนุษย์ 
                  เชื่อว่ามนุษย์เป็นคนดีมาแต่กำเนิด มนุษย์ไม่ได้โง่หรือฉลาดมาแต่กำเนิด มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่า ความฉลาดหรืออุปนิสัยอื่น ๆ มนุษย์มาได้รับภายหลังและจากประสบการณ์ทั้งสิ้น มนุษย์มีอิสระเสรี มิได้อยู่ใต้การลิขิตของผู้ใด มีศักยภาพ ที่จะพัฒนาตัวเองให้ดี
ญาณวิทยา 
                   เชื่อว่าความรู้ที่ตายตัวแน่นอนอันเป็นความจริงสูงสุดนั้นไม่มี ความรู้มีวิวัฒนาการอยู่เสมอ ความรู้มีหน้าที่ช่วยมนุษย์แก้ปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด ความรู้ต้องนำไปใช้ได้ผลจริง ๆ

                    กระบวนการของการศึกษา ถือว่าประสบการณ์และการทดลองมีความสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ และการเรียนรู้เป็นเรื่องของการกระทำ (Doing) มากกว่ารู้ (Knowing) และจะต้องให้ผู้เรียนได้รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคมได้ และจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง บุคคลด้วย
สถาบันการศึกษา
              เชื่อว่าสถาบันการศึกษา คือ แบบจำลองที่ดีงามของชีวิตและสังคม โดยจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และการดำเนินชีวิตจริง แต่ต้องเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน เพื่อผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตและสังคมได้ดีขึ้น สถาบันการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความร่วมมือกันสร้างบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติสุข

ผู้บริหาร
  • ผู้บริหารจะเป็นผู้ดำเนินงานไปตามข้อตกลงหรือมติของคณะกรรมการของสถาบันการศึกษา
  • ผู้บริหารจะต้องเป็นนักประชาธิปไตยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมในการบริหารงาน
บทบาทหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน 
                      เชื่อว่าผู้สอนและผู้เรียนร่วมมือกันในการเรียนรู้ และเน้นการทำงานในรูปของประชาธิปไตย ความเสมอภาค และผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมที่สนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน พร้อมทั้งยังคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ
ผู้สอน
  • จะต้องมีบุคลิกที่ดี เห็นอกเห็นใจและเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กได้ดี
  • บทบาทที่สำคัญของผู้สอน คือ จะต้องเป็นผู้กระตุ้น ให้ผู้เรียนได้สนใจด้วยตนเอง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง
  • บทบาทของผู้สอนไม่ใช่เป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่ง แต่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนวทางให้กับผู้เรียน
ผู้เรียน 
                     ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียนมาก ถือว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง หรือลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by Doing) ผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง
วิธีสอน 
                       มุ่งให้ผู้เรียนรวมกลุ่มทำกิจกรรม ใช้วิธีการสอนแบบ แก้ปัญหานำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ทดลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง เห็นความสำคัญของงานที่มีต่อตนเอง ต่อสังคม การสอนจึงเน้นในเรื่องการสาธิต การอภิปราย การค้นคว้า การรายงาน การประชุม การวางแผน ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความสามารถอย่างแท้จริง และได้รับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ศักยภาพของผู้เรียน ระวังไม่ให้เด็กเรียนอ่อนเกิดปมด้อย
หลักสูตร
                   หลักสูตรแบบประสบการณ์หรือหลักสูตรแบบกิจกรรม เน้นการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หลักสูตรเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม เนื้อหาของหลักสูตรจะต้องไม่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า หลักสูตรที่ดีต้องมุ่งไปที่การเรียนรู้ทุกชนิดที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาในทุกด้าน
การวัดและการประเมินผล
                    เชื่อว่าความรู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยมนุษย์ในการแก้ปัญหาเท่านั้น การที่จะได้มาซึ่งความรู้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การวัดผลและประเมินผลจะต้องดูว่าเนื้อหาวิชาเหล่านั้นสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น